fbpx ปัญหาสายตา แว่นตาและคอนแทคเลนส์ ภาวะสายตาสั้น สายตายาว คืออะไร

ปัญหาสายตา แว่นตาและคอนแทคเลนส์

ปัญหาสายตา แว่นตาและคอนแทคเลนส์

             กระบวนการมองเห็นของเราเกิดขึ้นได้จากการที่แสงตกกระทบวัตถุ สะท้อนเข้าสู่เลนส์ตา ก่อนจะตกกระทบกับจอประสาทตาและส่งข้อมูลไปยังสมอง เพื่อทำการวิเคราะห์และแปลผล ว่าวัตถุที่เห็นอยู่ตรงหน้านั้นคืออะไร แต่เมื่ออวัยวะของดวงตาบางอย่างมีความผิดปกติ จะทำให้สายตาเกิดความผิดปกติและมีการมองเห็นที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมได้ ซึ่งปัจจุบันภาวะความผิดปกติของสายตามีอยู่ด้วยกัน 4 รูปแบบ

Table of Contents

  1. ปัญหาด้านสายตามีอะไรบ้าง
  2. วิธีแก้ไขปัญหาสายตายอดฮิต

ปัญหาสายตา แว่นตาและคอนแทคเลนส์

ปัญหาด้านสายตามีอะไรบ้าง

1. ภาวะสายตาสั้น (Myopia)

             เป็นภาวะที่ดวงตามองเห็นวัตถุในระยะไกลไม่ชัดเจน อาจเห็นเป็นภาพลางๆ ในขณะที่มองเห็นวัตถุที่อยู่ในระยะใกล้ได้ชัดเจน เกิดจากกระจกตาหรือเลนส์ตามีความโค้งกว่าปกติ จากการที่ลูกตามีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวกว่าปกติ หรือกระบอกตายาวกว่าปกติ เมื่อมองวัตถุที่อยู่ระยะไกลออกไป จะเกิดการรวมแสงตกกระทบก่อนถึงจอประสาทตา ทำให้มองเห็นวัตถุได้ไม่ชัดเจน

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้น

  • พันธุกรรม

ความโค้งของกระจกตา เลนส์ตา หรือความยาวของลูกตา ที่มีผลต่อการทำให้สายตาสั้น ส่วนใหญ่เป็นการรับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งจะทำให้เกิดเคสสายตาสั้นในเด็กแรกเกิดได้

  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต

การใช้สายตาจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน โดยเฉพาะคนทำงานที่ต้องอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นานถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้สายตาโฟกัสเฉพาะภาพที่อยู่ใกล้ ไม่ได้มีการพักสายตา หรือมองไปในที่ไกลๆ ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้น

ปัญหาสายตา แว่นตาและคอนแทคเลนส์

2. ภาวะสายตายาว (Hyperopia)

             เป็นภาวะที่มองวัตถุที่อยู่ใกล้ไม่ชัด ในขณะที่สามารถมองวัตถุที่อยู่ไกลได้ชัดเจน เกิดจากกระจกตาที่แบนหรือลูกตาที่เล็กกว่าปกติ เมื่อมองวัตถุที่อยู่ใกล้ตา แสงจากวัตถุไม่โฟกัสบนจอประสาทตา แต่กลับโฟกัสที่หลังจอประสาทตาแทน จึงทำให้เห็นวัตถุไม่ชัดเจน

อาการแบบไหน เข้าข่ายคนสายตายาว

  • มองวัตถุอยู่ใกล้ไม่ชัด
  • อ่านหนังสือไม่ถนัด
  • ร้อยด้ายไม่เข้า
  • ไม่สบายตาหรือปวดศีรษะเวลาอ่านหนังสือ หรือใช้คอมพิวเตอร์นานๆ
  • มองไม่ชัด ตอนกลางคืน
  • ปวดตา
  • ตาไม่สู้แสง

ปัญหาสายตา แว่นตาและคอนแทคเลนส์

3. ภาวะสายตาเอียง (Astigmatism)

              เกิดจากความผิดปกติของกระจกตาหรือเลนส์ตาที่โค้งผิดรูป ทำให้เกิดจุดหักเหแสงมากกว่า 1จุด จึงมีผลกระทบต่อการโฟกัสแสง ทำให้เห็นภาพซ้อน มองเห็นไม่ชัดทั้งระยะใกล้และระยะไกล เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ได้ทุกช่วงอายุ คนที่มีภาวะสายตาเอียง จะรู้สึกตาพร่า และอาจมองภาพสีเข้มหรือขนาดเล็กได้ยากกว่าปกติ

อาการแบบไหน เข้าข่ายคนสายตาเอียง

  • มองตัวเลขผิดเพี้ยน เพราะเห็นเป็นภาพซ้อน
  • ถ้ามองในที่ๆ แสงน้อย จะเห็นภาพที่มีแสงสีขาวกระจายฟุ้งๆ รอบๆ
  • ติดนิสัยชอบหรี่ตาเวลามอง
  • ปวดศีรษะเมื่อต้องใช้สายตานานๆ

 

ปัญหาสายตา แว่นตาและคอนแทคเลนส์

4. ภาวะสายตายาวในผู้สูงอายุ (Presbyopia)

                   เป็นภาวะสายตาเสื่อมลงตามวัย พบในคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสายตา เลนส์ตาจะขาดความยืดหยุ่น รวมถึงสูญเสียความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเพ่งมอง การปรับสายตาจึงทำได้ยากขึ้น ทำให้ความสามารถในการมองเห็นวัตถุในระยะใกล้ลดลง หรือมองภาพระยะใกล้แล้วรู้สึกไม่สบายตา ในขณะที่การมองเห็นในระยะไกลยังคงทำงานได้ดีอยู่

อาการแบบไหน เข้าข่ายสายตายาวในผู้สูงอายุ

  • มองใกล้ไม่ชัด สังเกตว่าเวลาอ่านหนังสือ อาจต้องยืดสุดแขน เพื่อให้หนังสือไกลจากสายตามากขึ้น
  • เพ่งมองนานๆ แล้วรู้สึกปวดตา หรือปวดศีรษะ อาจมีอาการแสบตา เคืองตาจากการเพ่ง
  • มองไม่ชัดในแสงสลัว

 

วิธีแก้ไขปัญหาสายตายอดฮิต

ปัญหาสายตา แว่นตาและคอนแทคเลนส์

1. สวมแว่นสายตา

                   เป็นวิธีการแก้ปัญหาสายตาที่เป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะช่วยให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น และมีผลกระทบต่อดวงตาน้อยมากที่สุดนั่นเอง Tip ดีๆ สำหรับคนมีปัญหาสายตา :

รู้จัก ‘ค่าสายตา’ ก่อนไปตัดแว่น

  • เวลาไปตัดแว่นที่ร้านบริการตรวจวัดสายตา จะได้รับใบแจ้งค่าสายตา ซึ่งมีตัวย่อเป็นภาษาอังกฤษและตัวเลขต่างๆ ซึ่งตัวย่อหรือตัวเลขแต่ละตัว จะแปลค่าสายตาว่าอย่างไรบ้าง ไปเรียนรู้กันเลย
  • SPH = ค่าสายตา ในเคสสายตาสั้น จะมีค่าสายตาเป็น - (ลบ) และเคสสายตายาว จะมีค่าสายตาเป็น + (บวก) โดยเราจะเริ่มมองเห็นไม่ชัดที่ค่า -1.50 หรือ +1.50 เป็นต้นไป
  • CYL = ค่าความเอียง ยิ่งค่าลบมาก แปลว่าภาพที่เห็นจะยิ่งเพี้ยนมาก หรืออาจเห็นเป็นภาพซ้อนกันได้
  •  AX = องศาที่เอียง
  • <R> = ตาขวา
  • <L> = ตาซ้าย

รู้จัก ‘เลนส์สายตา’

  1. เลนส์ชั้นเดียว เหมาะกับ คนทุกช่วงวัยที่มีปัญหาสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง สายตายาวในผู้สูงอายุ
  2. เลนส์สองชั้น เหมาะกับ คนที่มีสายตายาวตามวัย 40 ปีขึ้นไป ที่มีปัญหาในการมองระยะใกล้ เลนส์สองชั้น ช่วยให้สามารถมองเห็นชัดเจนได้ทั้งระยะใกล้และไกลไม่ต้องถอดแว่น โดยแว่นตาส่วนบน ใช้สำหรับการมองในระยะไกล และแว่นตาส่วนล่าง จะใช้สำหรับการมองในระยะใกล้
  3. เลนส์โปรเกรสซีฟ เหมาะกับ คนที่มีสายตายาวตามวัย 40 ปีขึ้นไป ที่มีปัญหาในการมองหลายระยะ สามารถมองได้ทั้งระยะไกล ระยะกลาง และระยะใกล้ โดยไม่ต้องถอดแว่น

รู้จัก ‘เลนส์ย่อ’

  1. เลนส์ย่อขนาด 1.5 เป็นเลนส์ที่มีความหนาปกติ เหมาะกับคนที่มีค่าสายตาไม่มาก
  2. เลนส์ย่อขนาด 1.6 เป็นเลนส์ย่อบาง เหมาะกับคนที่มีค่าสายตาไม่เกิน 500
  3. เลนส์ย่อขนาด 1.67 เป็นเลนส์ย่อบางพิเศษ​ เหมาะกับคนที่มีค่าสายตาไม่เกิน 1000
  4. เลนส์ย่อขนาด 1.71 หรือ 1.74 เป็นเลนส์ย่อบางพิเศษที่ต้องสั่งทำ เหมาะกับคนที่มีค่าสายตามากกว่า 1000

ปัญหาสายตา แว่นตาและคอนแทคเลนส์

2. ใส่คอนแทคเลนส์

                   เพื่อให้ได้คอนแทคเลนส์ที่เหมาะสมกับดวงตามากที่สุด ควรตรวจวัดค่าสายตาและความโค้งของกระจกตาอย่างละเอียด โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านสายตาโดยตรง เพราะถ้าเลือกคอนแทคเลนส์ที่มีความโค้งไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกไม่สบายตา

รู้จัก ‘ชนิดของคอนแทคเลนส์’

  1. ชนิดแข็ง ทำจากพลาสติกแข็ง มีลักษณะใส มีข้อเสียตรงที่ออกซิเจนผ่านได้น้อย ไม่สามารถใส่เป็นเวลานานๆ เพราะอาจเกิดปัญหาตาแห้งได้ เหมาะกับคนที่มีปัญหาสายตาหนักๆ เช่น สายตาสั้นมาก สายตายาวมาก หรือสายตาเอียงมาก เป็นต้น
  2. ชนิดนิ่ม ทำจากพลาสติกที่มีความยืดหยุ่นสูง อุ้มน้ำได้สูง ออกซิเจนสามารถผ่านได้ง่าย มีระยะการใส่ที่ยาวนานกว่าคอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง เหมาะกับคนที่ไม่ได้มีปัญหาสายตาหนักมากนัก

รู้จัก ‘วิธีเลือกคอนแทคเลนส์’

  1. เลือกค่าความชัดเหมาะสมกับสายตา
  2. เลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ หลีกเลี่ยงการซื้อคอนแทคเลนส์ที่ตรวจสอบข้อมูลไม่ได้ เช่น ตามแผงลอย ตลาดนัด หรือตามร้านในอินเตอร์เน็ต
  3. เลือกอายุการใช้งานให้เหมาะสมกับระยะเวลาที่ต้องการใช้งาน อย่าฝืนใช้เกินอายุ เพราะวัสดุจะเสื่อมสภาพ

ปัญหาสายตา แว่นตาและคอนแทคเลนส์

รู้จัก ‘วิธีใส่และถอดคอนแทคเลนส์’

  1. ล้างมือให้สะอาดก่อนใส่และถอดคอนแทคเลนส์ทุกครั้ง
  2. ไม่ควรทาครีมที่มือก่อนใส่และถอดคอนแทคเลนส์
  3. วางคอนแทคเลนส์ลงบนปลายนิ้ว โดยหันให้ถูกด้าน หากวางได้ถูกต้องคอนแทคเลนส์จะเป็นรูปถ้วย ไม่บานออก
  4. ใช้มืออีกข้างง้างเปลือกตาบนกับเปลือกตาล่างออกจากกัน ใช้วิธีก้มหน้าลงมองกระจก จะช่วยให้ใส่ได้ง่ายขึ้น
  5. เวลาถอดคอนแทคเลนส์ ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้จีบเข้าหากัน เพื่อหยิบคอนแทคเลนส์ออกจากดวงตา
  6. เปลี่ยนน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์ทุกครั้งที่มีการใช้งาน

 

3. ทำเลสิค

                   เป็นการแก้ไขปัญหาสายตาด้วยเลเซอร์ โดยการปรับเปลี่ยนความโค้งของผิวกระจกตา จะช่วยแก้ไขสำหรับผู้ที่มีสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง ให้สายตากลับมาเป็นปกติ หรือใกล้เคียงปกติอย่างถาวร เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงและเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการสวมแว่นสายตา หรือใส่คอนแทคเลนส์