fbpx รู้จักกับ “วุ้นตาเสื่อม” โรคตาฮิตในปัจจุบัน

รู้จักกับ “วุ้นตาเสื่อม” โรคตาฮิตในปัจจุบัน

วุ้นตาเสื่อม เป็นโรคความเสื่อมของน้ำวุ้นตา

วุ้นตาเสื่อม คืออะไร

                   วุ้นตาเสื่อม เป็นโรคความเสื่อมของน้ำวุ้นตา ที่มีลักษณะเป็นวุ้นใส มีความหนืดคล้ายเจล อยู่ในช่องด้านหลังลูกตา มีปริมาตรมากถึง 4 ใน 5 ของลูกตา คล้ายกับไข่ขาวในไข่ไก่ ทำหน้าที่ให้อาหารแก่จอประสาทตาและช่วยให้ลูกตาคงรูปอยู่ได้ ตามปกติน้ำวุ้นตาจะมีความใส ทำให้แสงส่องผ่านไปเลี้ยงเนื้อเยื่อภายในลูกตาได้

 

วิธีการสังเกตโรควุ้นตาเสื่อม

                   ผู้ที่มีภาวะวุ้นตาเสื่อม จะมองเห็นจุด วงแหวน หรือเส้นสีดำคล้ายหยากไย่ลอยไปมา หรือเห็นสิ่งที่คล้ายแมลงลอยอยู่ในกรอบสายตา โดยจะเกิดการเคลื่อนไหวตามการกลอกลูกตา แต่เมื่อตั้งใจเพ่งมองสิ่งนั้นกลับหายไปจากกรอบสายตาอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่จะมองเห็นเมื่อจ้องมองพื้นผนัง กำแพงสีขาวหรือสีโทนสว่าง มองท้องฟ้า หรือบางคนอาจมองเห็นแสงแฟลชในตา เป็นผลมาจากการที่น้ำวุ้นตาเสื่อมสภาพ ทำให้วุ้นตามีสภาพความหนืดน้อยลง โครงสร้างบางส่วนเกิดการหดตัวรวมกันเป็นรูปร่างปรากฏขึ้น จนบังแสงที่จะตกกระทบลงจอตา

                   เดิมทีโรควุ้นตาเสื่อมมักเกิดขึ้นกับคนอายุ40-50 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีและการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ ที่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตเป็นเวลานานในแต่ละวัน ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ง่าย ทั้งที่อายุยังไม่มาก มาดูกันดีกว่าว่า อะไรกันแน่? ที่เป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรควุ้นตาเสื่อมมากที่สุด

 

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรควุ้นตาเสื่อม

1. อายุที่มากขึ้น

                   โรควุ้นตาเสื่อม เป็นอาการเสื่อมตามวัย พออายุมากขึ้น อวัยวะและเซลล์ต่างๆ ในร่างกายจะทยอยเสื่อมลง ไม่ว่าแม้แต่ดวงตา โดยปกติวุ้นตา จะประกอบด้วยโปรตีน คอลลาเจนและสารอื่นๆ สานกันเป็นโครงสร้างเส้นใย แต่เมื่ออายุมากขึ้น เซลล์ต่างๆ จะสูญเสียความแข็งแรงไป ทำให้โครงสร้างเส้นใยของวุ้นตาขาด และเศษเส้นใยที่จับตัวกันหนาแน่น จะบังแสงที่ผ่านเข้าสู่จอประสาทตา เกิดเป็นโรควุ้นตาเสื่อม

2. พฤติกรรมการติดจอของคนยุคดิจิตัล

                   ปัจจุบันโลกคนมีแนวโน้มที่จะใช้สายตามากขึ้น ทั้งเวลาทำงานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อการติดต่อสื่อสาร สืบค้นข้อมูล หรือพิมพ์เอกสาร หากลองนับดู เพียงแค่เวลาทำงานอย่างเดียวก็ใช้เวลาไปประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวันแล้ว ส่วนใหญ่ยังสายตาในการเล่นโทรศัพท์มือถือ เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ดูหนัง ดูซีรีส์ อ่านนิยาย บทความ หรือข้อความในโซเชียลต่างๆ เป็นต้น ซึ่งตัวอักษรบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือจอโทรศัพท์มือถือนั้น แตกต่างจากตัวหนังสือบนกระดาษโดยสิ้นเชิง เพราะตัวอักษรบนหน้าจอ ประกอบด้วยจุดหลายจุดเรียงต่อกัน ทำให้มีโฟกัสไม่แน่นอน เวลาอ่านตัวหนังสือเหล่านั้น ทำให้ต้องใช้กล้ามเนื้อตาในการเพ่งมองมากกว่าปกติ

3. สายตาสั้นมาก

                   คนที่มีสายตาสั้นมากๆ จะกระตุ้นให้เกิดโรควุ้นตาเสื่อมได้เร็วขึ้นกว่าคนที่มีสายตาปกติ เพราะโครงสร้างดวงตาของคนที่มีปัญหาทางสายตา จะไม่แข็งแรงเท่ากับคนปกติ

4. เบาหวานขึ้นตา

                   คนที่เป็นโรคเบาหวาน จะมีระดับน้ำตาลสูงกว่าคนปกติ ทำให้เกิดเส้นเลือดอุดตันบริเวณจอตา ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้เป็นปกติ ทำให้เกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่ชดเชย ซึ่งเส้นเลือดใหม่นี้จะเปราะบางมาก และหากเส้นเลือดแตกเข้าสู่วุ้นตา จนเกิดพังผืด ถึงขั้นรั้งจอประสาทให้ฉีกขาดได้เลยทีเดียว

 

อาการวุ้นตาเสื่อมแบบใด? ควรไปพบจักษุแพทย์

                   อาการวุ้นตาเสื่อม ที่มองเห็นจุดสีดำ หรือเส้นหยากไย่ลอยไปลอยมา เป็นอาการที่ยังไม่เข้าข่ายต้องไปพบแพทย์ เพราะไม่เป็นอันตรายต่อดวงตา และเมื่อเวลาผ่านไปจะชินไปเอง

                   อาการวุ้นตาเสื่อม ที่เห็นแสงสว่างวาบ หรือแสงแฟลชในตา หรือเห็นสายฟ้าแลบในตา เป็นได้ทั้งตอนหลับตาหรืออยู่ในที่มืด จะเกิดจากการที่วุ้นตาฉีกขาดและร่อนออกจากจอประสาทตา หากมีอาการนี้ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะจอประสาทลอก ที่เกิดจากการแยกหรือลอกตัวของจอประสาทตาจากตำแหน่งเดิม

 

วิธีการรักษาจอประสาทตาฉีกขาด หรือหลุดลอก

  1. ใช้เลเซอร์รักษาจอประสาทตาที่หลุดลอก
  2. จี้ด้วยความเย็น
  3. ฉีดก๊าซเข้าวุ้นตา เพื่อรักษาจอประสาทตาที่หลุดลอก
  4. ผ่าตัดหนุนผนังลูกตา ให้ติดกับจอตา
  5. ผ่าตัดวุ้นตา ร่วมกับการฉีดสารแทนวุ้นตา

 

ดูแลตัวเองหลังผ่าตัดจอประสาทตา

  1. สวมที่ครอบตาหลังผ่าตัดไว้เป็นเวลา 1 เดือน หรือตามแพทย์สั่ง
  2. หลีกเลี่ยงการขยี้ หรือสัมผัสโดนดวงตา เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อ
  3. นอนยกศีรษะสูง หรือประคบอุ่น ช่วยลดอาการบวม
  4. ระวังไม่ให้แผลโดนน้ำ
  5. ไม่หันหน้าหรือส่ายศีรษะเร็วๆ
  6. งดการก้มหน้าลงต่ำ
  7. สามารถใช้สายตา ทำงานและใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ควรงดออกกำลังกายหนักเป็นเวลา 2 เดือน
  8. เข้าพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามผลการผ่าตัด
  9. หากผ่าตัด พบว่ามีอาการปวดตารุนแรง ตาแดงมาก มีขี้ตาเยอะ ควรรีบพบจักษุแพทย์โดยเร่งด่วน

 

ป้องกันอย่างไร ไม่ให้เกิดโรควุ้นตาเสื่อม

  1. ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ควรเข้าพบจักษุแพทย์เป็นประจำทุกปี
  2. หลีกเลี่ยงการเล่นโทรศัพท์มือถือ ใช้คอมพิวเตอร์ หรืออ่านหนังสือ ในที่ๆ แสงสว่างไม่เพียงพอ
  3. ไม่ควรเปิดไฟนอน เพราะแม้จะหลับแล้ว แต่แสงยังรบกวนสายตาได้อยู่