fbpx ไม่ใช่แค่ความเชื่อ อาการ “ตากระตุก” สามารถบอกอะไรได้บ้าง แก้ยังไง ?

ไม่ใช่แค่ความเชื่อ อาการ “ตากระตุก” สามารถบอกอะไรได้บ้าง แก้ยังไง?

อาการ “ตากระตุก” สามารถบอกอะไรได้บ้าง แก้ยังไง?

            ตากระตุก เรียกอีกอย่างว่า ตาเขม่น เป็นอาการที่กล้ามเนื้อรอบดวงตามีการหดตัวผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อมีอาการเกร็ง และกระตุก ซึ่งการกระตุกจะน้อยหรือมาก ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคล ทั้งอาการตากระตุกมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับตา หรือการระคายเคืองตา ตาแห้ง เนื่องจากการใช้สายตาในการเพ่งมองจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน นอกจากนั้นยังเกิดจากความเครียด และการพักผ่อนไม่เพียงพอ อาการตากระตุกมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน คือ การมีอาการกะพริบตาและตากระตุกถี่ๆ ทั้งในตาข้างเดียวและทั้งสองข้าง ในบางกรณีที่มีความรุนแรงจะเป็นอาการกะพริบตาค้าง หรือไม่สามารถลืมตาเองได้ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ได้ 

           ถึงแม้โบราณว่าตากระตุกขวาร้าย ซ้ายดี แต่ในปัจจุบันนั้น จะซ้ายหรือขวาอาจจะไม่ดีเท่าไหร่ มาดูกันดีกว่าว่าอาการตากระตุกนั้น กำลังบอกอะไรคุณ มีวิธีแก้ตากระตุกอย่างไรบ้าง

Table of Contents

  1. ตากระตุกบ่อยๆ อันตรายหรือไม่ ?
  2. ตากระตุกแบบไหนที่ควรพบแพทย์
  3. ตากระตุกเป็นสัญญาณของโรคใดได้บ้าง
  4. สาเหตุการเกิดของอาการตากระตุก
  5. การรักษาอาการตากระตุก ทำได้อย่างไร
  6. วิธีป้องกันการเกิดตากระตุก
  7. ตากระตุกกับความเชื่ออื่นๆ 
  8. คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการตากระตุก (FAQ)

 

อาการตากระตุก โดยทั่วไปแล้วไม่เป็นอันตราย สามารถหายไปเองได้ในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์

ตากระตุกบ่อยๆ อันตรายหรือไม่ ?

           อาการตากระตุก โดยทั่วไปแล้วไม่เป็นอันตราย สามารถหายไปเองได้ในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ แต่หากสังเกตพบว่าอาการตากระตุกเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลามากกว่า 1 สัปดาห์ นั่นเป็นอาการผิดปกติ หรืออาจจะเป็นสัญญาณบอกโรคบางชนิดได้ เช่น โรคอัมพาตใบหน้า โรคกล้ามเนื้อบิดเกร็ง โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคกล้ามเนื้อช่องปากหรือขากรรไกรบิดเกร็ง โรคกล้ามเนื้อใบหน้าบิดเกร็ง และโรคทูเร็ตต์ เป็นต้น

อาการตากระตุกอาจมีความรุนแรงมากขึ้น นานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรไปพบแพทย์ทันที

ตากระตุกแบบไหนที่ควรพบแพทย์

อาการตากระตุกอาจมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ทันที 

  • มีอาการตากระตุกติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป
  • เมื่อตากระตุกแล้ว มีอาการลืมตายากหรือตาปิด
  • มีอาการกระตุกที่ส่วนอื่นในร่างกายร่วมด้วย 
  • เปลือกตาตกลงมาปิดดวงตา บดบังการมองเห็น
  • ดวงตามีอาการบวมแดง หรือมีของเหลวไหลออกมา

ตากระตุกเป็นสัญญาณของโรคต่างๆ โรคอัมพาตใบหน้า โรคพาร์กินสัน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

ตากระตุกเป็นสัญญาณของโรคใดได้บ้าง

อาการตากระตุกอาจจะเป็นสัญญาณบอกโรคที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้ ดังนี้ 

1. โรคอัมพาตใบหน้า

           เป็นอาการที่เกิดร่วมกับอาการตากระตุก โรคอัมพาตใบหน้าเกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทบริเวณใบหน้า ทำให้เกิดอ่อนแรงที่ใบหน้าด้านใดด้านหนึ่งกะทันหัน ส่งผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อใบหน้า การแสดงออกทางสีหน้าและการพูดสื่อสารผิดปกติ ส่วนมากแพทย์จะรักษาด้วยยาต้านอักเสบ และยาต้านไวรัส รวมถึงการทำกายภาพบำบัดด้วยการกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า

2. โรคพาร์กินสัน 

           เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมอง ทำให้สารโดพามีนลดลง จึงเกิด ความผิดปกติของการเคลื่อนไหว โรคพาร์กินสันจะทำให้ร่างกายมีอาการสั่น เคลื่อนไหวช้า ร่างกายแข็งเกร็ง พูดช้า หน้านิ่ง เดินลำบาก การรักษาจะใช้วิธีการรักษาด้วยยา และการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก

3. โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

           เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวบางชนิดทำงานผิดปกติ ทำให้เนื้อเยื่อปลอกหุ้มประสาทในประสาทส่วนกลางอักเสบหรือถูกทำลาย ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว และการรับความรู้สึกต่างๆ อาการของโรคจะทำให้ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง การทรงตัวผิดปกติ การรักษาจะเป็นการใช้ยาตามคำวินิจฉัยของแพทย์

4. โรคคอบิดเกร็ง

           เป็นอาการผิดปกติของการเคลื่อนไหวบริเวณคอ และศีรษะ โดยศีรษะจะบิดไปด้านใดด้านหนึ่ง เพราะเกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณคอ ส่งผลให้ปวดศีรษะ ไม่สามารถแหงนศีรษะขึ้น คอมีอาการสั่น หูเอียงบิด กล้ามเนื้อคอขยายใหญ่ บวม ไหล่ยกและมือสั่น การรักษาจะเป็นการให้ยา และการกายภาพบำบัด

5. ภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง

           ภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง เป็นอาการผิดปกติในการควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ไม่สามารถควบคุมได้ และมีอาการซ้ำๆ สันนิษฐานว่าเกิดจากสารสื่อประสาทในสมองที่ทำงานผิดปกติ ได้แก่ โดปพามีนและอะซิติลโคลีน ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อ มักเกิดบริเวณเปลือกตาบน คอ มือ ขา เป็นต้น

6. โรคทูเร็ตต์ 

           โรคทูเร็ตต์ เป็นอาการที่สมองสั่งการให้เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อโดยไม่ตั้งใจ เช่น กะพริบตา อ้าปาก ยักไหล่ เป็นต้น หรือการเปล่งเสียงจากลำคอหรือจมูก โดยไม่ตั้งตัว เช่น ไอ สูดจมูก ส่งเสียงในลำคอ พูดซ้ำ หรือการเปล่งคำหยาบ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม หรือความผิดปกติของการทำงานของสมอง ตลอดจนความเครียด การรักษามีทั้งการใช้ยา การทำกิจกรรมบำบัด และการช่วยเหลือทางจิตใจ

7. โรค Meige Syndrome

           เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการหดเกร็งกล้ามเนื้อใบหน้าแนวตรงกลาง อาการที่พบ เช่น กะพริบตาค้าง การเคลื่อนที่ผิดปกติของปาก จมูก และคิ้ว  ซึ่งเป็นอาการที่ควบคุมไม่ได้ การรักษาจะรักษาตามอาการ ไม่ว่าจะเป็นการฉีดโบท็อกซ์ หรือการใช้ยา

สาเหตุการเกิดของอาการตากระตุก ตาแห้ง ตาล้า จากการระคายเคือง หรือพักผ่อนน้อย

สาเหตุการเกิดของอาการตากระตุก

อาการตากระตุกเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลายประการ ดังนี้ 

  • ตาแห้ง ตามีอาการล้า จากการระคายเคือง หรือจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ความวิตกกังวลและเครียดสะสม 
  • การเผชิญกับแสงแดดแรงเป็นเวลานาน 
  • การขาดสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุบางชนิด
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนในปริมาณมากเกินไป
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • การสูบบุหรี่ 
  • โรคภูมิแพ้
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด

การรักษาอาการตากระตุก โดยทั่วไปจะสามารถหายเอง หาเกิน 2สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์

การรักษาอาการตากระตุก ทำได้อย่างไร

          โดยทั่วไปอาการตากระตุก จะสามารถหายเองได้ในระยะเวลาไม่นาน แต่หากอาการยังไม่หาย อาจถือว่าผิดปกติและควรไปพบแพทย์ สำหรับวิธีแก้ตากระตุก แพทย์จะมีการรักษามีหลายวิธี ดังนี้

  • การรักษาด้วยการฉีด Botulinum Toxin กรณีที่มีอาการตากระตุกนานเกิน 3 เดือน ซึ่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน 
  • การรักษาที่ปัจจัยกระตุ้น Reflex Blepharospasm เช่น น้ำตาเทียม การสวมแว่นตาดำชนิด FL-41 การรักษาเปลือกตาอักเสบ เป็นต้น
  • การรักษาด้วยการให้ยากลุ่มคลายกล้ามเนื้อ หรือกลุ่มยานอนหลับ
  • การรักษาด้วยการผ่าตัด กรณีไม่สนองต่อการฉีด Botulinum Toxin

วิธีป้องกันการเกิดตากระตุก ลดการสูบบุหรี่  ลดคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ ไม่เครียดวิตกกังวล 

วิธีป้องกันการเกิดตากระตุก

         อาการตากระตุกอาจเกิดโดยไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะในช่วงที่ร่างกายเครียด เหนื่อยล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ ดังนั้นการป้องกันเกิดตากระตุกที่ดีที่สุดคือการดูแลสุขภาพของตนเอง และหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นเหล่านี้

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ 
  • ลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และแอลกอฮอล์
  • พยายามหลีกเลี่ยงความเครียดวิตกกังวล 
  • พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่รบกวนการพักผ่อน และพักผ่อนให้เพียงพอ 
  • หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดจัด
  • พยายามไม่ให้ตาแห้ง หากตาแห้งอาจใช้น้ำตาเทียมช่วย

ความเชื่อโบราณที่เกี่ยวกับอาการตากระตุกที่ว่า “ขวาร้าย ซ้ายดี”

ตากระตุกกับความเชื่ออื่นๆ 

         ตามความเชื่อโบราณที่เกี่ยวกับอาการตากระตุกที่ว่า “ขวาร้าย ซ้ายดี” เป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมายาวนาน โดยอาการตากระตุกในแต่ละข้างมีความหมายดังนี้

ตาขวากระตุก

         ตากระตุกข้างขวา โดยทั่วไปจะเข้าใจว่าอาจจะเกิดเรื่องไม่ดีในวันนั้น แต่ในทางความเชื่อโหราศาสตร์แล้ว เชื่อว่าอาการตาขวากระตุกในแต่ละช่วงเวลาสามารถทำนายได้แตกต่างกัน ดังนี้ 

  • ตากระตุกช่วงเช้า (ตื่นนอน - 08.59 น.) ญาติมิตรที่อยู่ต่างแดนจะมาหา
  • ตากระตุกช่วงสาย (09.00-12.59 น.) ญาติมิตรที่อยู่ต่างแดนจะนำโชคลาภมาให้
  • ตากระตุกช่วงบ่าย (13.00-16.59 น.) ประสบความสำเร็จในสิ่งที่คิดและตั้งใจทำ
  • ตากระตุกช่วงเย็น (17.00 -18.59 น.) จะได้พบญาติหรือมิตรสหายที่จากกันนาน แบบไม่คาดคิด
  • ตากระตุกช่วงกลางคืน (19.00 น. ขึ้นไป) จะเกิดเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับคนในครอบครัว

ตาซ้ายกระตุก

         ตาซ้ายกระตุก ตามคำโบราณมีความเชื่อ ดังนี้ 

  • ตากระตุกช่วงเช้า (ตื่นนอน - 08.59 น.) จะมีปากเสียงวิวาท หรือมีเรื่องเดือดร้อนเข้ามา
  • ตากระตุกช่วงสาย (09.00-12.59 น.) จะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นในครอบครัว
  • ตากระตุกช่วงบ่าย (13.00-16.59 น.) มีเพศตรงข้ามพูดถึง หรือเดินทางมาหา
  • ตากระตุกช่วงเย็น (17.00 -18.59 น.) จะได้พบญาติหรือมิตรสหายที่เดินทางมาเยี่ยม
  • ตากระตุกช่วงกลางคืน (19.00 น. ขึ้นไป) จะมีข่าวดีในเช้าวันรุ่งขึ้น หรือจะได้ลาภจากงานที่ทำไว้

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการตากระตุก (FAQ)

         หลายคนอาจจะยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการตากระตุก Lovely Eye & Skin Clinic จึงรวบรวมคำถามที่พบบ่อย พร้อมคำตอบมาคลายความสงสัยไว้แล้ว ดังนี้

Q : ตากระตุก เกิดจากขาดวิตามินอะไร 

สาเหตุหนึ่งของอาการตากระตุกเกิดจากการที่ร่างกายขาดแร่ธาตุ และวิตามินบางชนิด โดยเฉพาะวิตามินบี 12 ที่มีผลต่อการกระตุกของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท

Q : ตากระตุก กี่วันหาย

โดยทั่วไปอาการตากระตุกจะสามารถหายเองได้ในระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่หากมีอาการต่อเนื่องนานกว่านั้น ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่นๆ 

Q : ตากระตุก เกิดจากอะไร 

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอาการตากระตุกมีหลายประการ เช่น นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด การดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนและแอลกอฮอล์มากเกินไป การสูบบุหรี่ การเผชิญแสงแดด อาการภูมิแพ้ เป็นต้น

สรุป

         อาการตากระตุก คือ อาการที่เปลือกตาหดเกร็ง ขยับเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว จนสร้างความรำคาญใจต่อเจ้าตัวได้ สามารถเกิดได้ทั้งเปลอกตาบนและเปลือกตาล่าง อาการตากระตุกเป็นสัณญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติของร่างกายบางประการ เกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด การดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนและแอลกอฮอล์มากเกินไป การสูบบุหรี่ การเผชิญแสงแดด อาการภูมิแพ้ เป็นต้น 

         โดยทั่วไปแล้วสามารถหายไปเองได้ในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ แต่หากอาการต่อเนื่องยาวนานกว่านั้น ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยความเสี่ยงที่อาจจะเกิดโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น โรคอัมพาตใบหน้า โรคพาร์กินสัน โรคทูเร็ตต์ เป็นต้น ดังนั้น อาการตากระตุกจึงเป็นสัญญาณบอกโรคและความผิดปกติของร่างกายมากกว่าเรื่องของความเชื่อ ผู้อ่านที่กำลังเผชิญอาการตากระตุกจึงควรสังเกตอาการของตนเองด้วย