fbpx จะรู้ได้อย่างไรว่ากระจกตาถลอก ก่อนสายเกินแก้ | ทำตาสองชั้น เปิดหัวตา ถุงใต้ตา โดยหมอรวงข้าว และทีมจักษุศัลยแพทย์ ออกแบบดวงตา วิเคราะห์ปัญหาตรงจุด

จะรู้ได้อย่างไรว่ากระจกตาถลอก ก่อนสายเกินแก้

 กระจกตาถลอก หรืออาจเข้าใจกันในชื่อของกระจกตาเป็นแผล

          ดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของร่างกาย และยังเป็นอวัยวะที่มีความบอบบาง เสี่ยงต่อความเสียหายได้มากที่สุดอวัยวะหนึ่งอีกด้วย หนึ่งในอาการที่เป็นอันตรายต่อดวงตา คือ กระจกตาถลอก หรือ Corneal Abrasion ซึ่งหากไม่รู้ว่าเกิดอาการนี้จนปล่อยให้สายเกินแก้ก็จะเป็นอันตรายได้ จึงควรหมั่นดูแลดวงตาและสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับดวงตาอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการใดๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางดูแลรักษาต่อไป

Table of Contents

  1. กระจกตาถลอกคืออะไร
  2. สาเหตุของการเกิดกระจกตาถลอก
  3. อาการกระจกตาถลอก
  4. ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระจกตาถลอก
  5. การดูแลรักษากระจกตาถลอก
  6. การดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคกระจกตาถลอก
  7. อาการแทรกซ้อนจากอาการกระจกตาถลอก
  8. เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์จากอาการกระจกตาถลอก

กระจกตาถลอก (Corneal Abrasion)

กระจกตาถลอกคืออะไร ?

           กระจกตาถลอก (Corneal Abrasion) หรืออาจเข้าใจกันในชื่อของกระจกตาเป็นแผล คือ อาการที่มีการหลุดลอกของชั้นเยื่อบุผิวของกระจกตา โดยอาจเกิดขึ้นจากการเสียดสีหรืออุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงมาก แต่เมื่อผิวของกระจกตาหลุดจึงกระทบต่อเส้นประสาทภายใต้เยื่อบุผิว ที่กระทบกับน้ำหรืออากาศจนเกิดอาการเจ็บปวด

 

อาการกระจกตาถลอกได้นั้นมีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน

สาเหตุของการเกิดกระจกตาถลอกมีอะไรบ้าง?

 สาเหตุที่สามารถทำให้กระจกตาเป็นแผล เกิดอาการกระจกตาถลอกได้นั้นมีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน เช่น

  • สิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย

หากเป็นผู้ที่อยู่บริเวณสถานที่ที่มีฝุ่นละอองหรือเศษสิ่งสกปรกมากก็อาจเพิ่มโอกาสของการเกิดอาการกระจกตาถลอกได้ หรือในหลายกรณี กระจกตาถลอกมักเกิดกับผู้ที่มีอาชีพก่อสร้าง ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง หรือชาวไร่ชาวสวนที่ใกล้ชิดกับใบไม้ กิ่งไม้ และฝุ่นละออง จึงมักได้รับผลกระทบจากสิ่งเหล่านี้

  • ใส่คอนแทคเลนส์ผิดวิธี

คอนแทคเลนส์เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของกระจกตาถลอกได้ หลายคนที่นิยมใช้คอนแทคเลนส์แฟชัน ซึ่งอาจไม่มีคุณภาพหรือไม่ได้รับการควบคุมมาตรฐานให้สะอาดพอ อาจเกิดอาการระคายเคืองดวงตาจากคอนแทคเลนส์และเสียดสีจนกระจกตาเป็นแผล หรือหลายคนที่ใช้คอนแทคเลนส์ผิดประเภท ไม่ใส่ใจในสุขอนามัยของการใช้คอนแทคเลนส์ให้เหมาะสม เช่น ใช้คอนแทคเลนส์แบบรายวันแต่ใช้ติดต่อกันนานกว่าที่ระบุไว้ ก็อาจทำให้คอนแทคเลนส์เสื่อมสภาพและส่งผลต่อกระจกตาจนกระจกตาถลอกได้

  • มีโรคประจำตัว

นอกจากปัจจัยภายนอกเรื่องสภาพแวดล้อมต่างๆ หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตแล้ว อาการกระจกตาถลอกอาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยอย่างโรคประจำตัวได้เช่นกัน โดยโรคประจำตัวอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดอาการกระจกตาเป็นแผลได้ เช่น

  • มีภาวะตาแห้ง เมื่อดวงตาขาดน้ำจึงทำเกิดการถลอกของกระจกตาและกระจาตกเป็นแผลได้ง่าย
  • มีอาการของโรคภูมิแพ้ หรือมีอาการเยื่อบุตาอักเสบที่เป็นผลมาจากโรคภูมิแพ้ เมื่อขยี้ตาบ่อยครั้ง จึงทำให้กระจกตาเป็นแผล
  • มีโรคที่ส่งผลให้เปลือกตาไม่สามารถปิดสนิทได้ จึงไม่สามารถปกป้องดวงตาได้อย่างเต็มที่ เสี่ยงต่อการมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่บริเวณดวงตาและเกิดอาการกระจกตาเป็นแผล
  • มีโรคเกี่ยวกับกระจกตาที่ไม่เกิดจากอุบัติเหตุ แต่ทำให้กระจาตาถลอกได้เอง หรืออาจมีเชื้อไวรัสจากโรคที่เกี่ยวกับกระจกตาที่ส่งผลให้กระจกตาเป็นแผลได้
  • ได้รับอุบัติร้ายแรง

กระจกตาถลอกที่เกิดจากอุบัติเหตุต่างๆ เช่น การถูตา การโดนบาดจากสิ่งแปลกปลอม หรือแม้แต่การโดนสารเคมีเข้าสู่ดวงตาจนทำให้สิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นเสียดสีกับกระจกตาทำให้กระจกตาถลอก

  • เคยเข้ารับการผ่าตัดมาก่อน

บางกรณีอาจเคยมีการเข้ารับการผ่าตัดหรือได้รับการรักษาเกี่ยวกับดวงตา และมีผลข้างเคียงหรืออาจได้รับผลกระทบจากการผ่าตัดที่อาจก่อให้เกิดแผลหรืออาการกระจกตาถลอกได้

 

อาการกระจกตาถลอก

อาการกระจกตาถลอกเป็นอย่างไร?

หากพบความผิดปกติบริเวณดวงตา ควรรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี โดยอาการเหล่านี้ ถือเป็นอาการที่บ่งชี้ได้ว่ากระจกตาถลอกหรือเป็นแผล เช่น

  • ดวงตาแฉะ
  • มีอาการเจ็บปวดที่ดวงตา อาจระคายเคืองหรือรู้สึกว่ามีสิ่งแปลกปลอมบริเวณดวงตา
  • มีอาการไวต่อแสง
  • มองภาพไม่ชัด ดวงตาพร่ามัวอันเกิดมาจากกระจกตาไม่เรียบ
  • ปวดศีรษะจากการมองเห็นสิ่งต่างๆ ไม่ชัดเจน
  • หนังตาบวม มีอาการเปลือกตากระตุก

 

จะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระจกตาถลอก

จะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระจกตาถลอก

ถึงแม้ว่าอาการโดยทั่วไปของกระจกตาเป็นแผลอาจจะทำให้แยกออกได้ยากกับกลุ่มอาการที่เกิดกับดวงตาอื่นๆ แต่สามารถสังเกตและวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระจกตาถลอกได้ ดังนี้

  • ประเมินจากสาเหตุที่อาจก่อให้เกิดอาการกระจกตาถลอกได้ เช่น เกิดอาการปวดตาหรือเจ็บตาหลังความรู้สึกที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตา หรือเกิดอาการตาพร่า มองภาพไม่ชัด เป็นต้น
  • ในหลายกรณีมักมีอาการที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เช่น ตาไม่สู้แสง เจ็บปวดที่ดวงตา มองเห็นไม่ชัด และในหลายกรณีที่สามารถมองเห็นรอยแผลที่กระจกตาได้ด้วยตาเปล่า จึงรู้ว่ากระจกตาถลอก แต่ในหลายกรณีก็ต้องอาศัยเครื่องมือช่วยให้เห็นรอยแผลที่กระจกตา
  • ผู้ป่วยมีโรคหรืออาการที่เกี่ยวกับดวงตาอื่นๆ เช่น มีภาวะตาแห้ง หรือเปลือกตาปิดไม่สนิท ซึ่งเป็นโรคและอาการที่สามารถส่งผลให้เกิดกระจกตาถลอกร่วมด้วยได้
  • สวมคอนแทคเลนส์เป็นประจำ ซึ่งมีการใช้คอนแทคเลนส์ผิดประเภทหรือเป็นคอนแทคเลนส์แฟชันที่ไม่ได้มาตรฐาน

 

การดูแลรักษากระจกตาถลอก

การดูแลรักษากระจกตาถลอกต้องทำอย่างไรบ้าง

เมื่อมีอาการกระจกตาเป็นแผลหรือเห็นกระจกตาถลอก ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางแก้ไขทันที โดยในการเลือกวิธีการรักษา จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่ดูแล ซึ่งวิธีรักษา มีดังนี้

  • การใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาหยอดตา อาการกระจกตาเป็นแผลนั้น เกิดจากการหลุดลอกของเยื่อบุผิวกระจกตา ซึ่งสามารถรักษาและปิดสนิทได้เองในระยะเวลา 2-3 วัน แต่ก็สามารถดูแลได้ยากเนื่องจากอาจเกิดสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ได้ แพทย์จึงมักรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะหรือยาหยอดตา เพื่อช่วยให้สามารถดูแลดวงตาให้เยื่อบุผิวกระจกตาฟื้นฟูได้เร็วขึ้น หากเป็นอาการกระจกตาเป็นแผลที่เกิดจากเชื้อไวรัส จะต้องมีการหยอดตาฆ่าเชื้อไวรัสร่วมด้วย
  • ปิดตาให้สนิท เพื่อลดการเสียดสีที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มได้ แต่ขึ้นอยู่กับความจำเป็น เช่น มีรอยแผลที่กระจกตาขนาดใหญ่หรือมีภาวะที่ดวงตาไม่สู้แสงอย่างมาก แพทย์จะแนะนำให้ปิดตาทั้งสองข้างเพื่อลดความเคลื่อนไหวของดวงตาไม่ให้ดวงตาที่ถลอกเกิดการเสียดสีเพิ่ม
  • ใช้คอนแทคเลนส์ปิดดวงตา เป็นวิธีที่จะช่วยป้องกันการเสียดสีได้โดยที่ยังสามารถใช้ดวงตาได้ด้วย แต่การใช้คอนแทคเลนส์อาจเพิ่มโอกาสของการติดเชื้อได้ จึงมักแนะนำเฉพาะบุคคลตามดุลยพินิจของแพทย์

 

ป้องกันดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคกระจกตาถลอก

การป้องกันดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคกระจกตาถลอกทำได้อย่างไร?

เพื่อป้องกันไม่ให้เสี่ยงต่อการเกิดกระจกตาถลอกหรือทำให้กระจกตาเป็นแผล ควรระมัดระวังตนเองโดย

  • หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝุ่นละออง เช่น บริเวณที่มีการก่อสร้าง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สิ่งแปลกปลอมต่างๆ สามารถเข้าสู่ดวงตาได้
  • สวมแว่นตาเพื่อป้องกันดวงตาจากสิ่งแปลกปลอมในชีวิตประจำวันหรือเมื่อมีเหตุจำเป็นที่จะต้องเข้าสู่บริเวณที่อาจเสี่ยงต่อการได้รับสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตา
  • สังเกตอาการ หากเกิดอุบัติเหตุว่ามีอาการเจ็บปวดดวงตาด้วยหรือไม่ หากรู้สึกถึงความผิดปกติให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาต่อไป
  • รักษาความสะอาด หมั่นล้างมือ ไม่จับ ถู หรือขยี้ดวงตาแรงๆ
  • หลีกเลี่ยงการใช้กากเพชรหรือของตกแต่งที่เสี่ยงต่อดวงตา
  • เลือกคอนแทคเลนส์ที่ได้มาตรฐาน และใช้งานคอนแทคเลนส์ให้ถูกต้องตามประเภท เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากคอนแทคเลนส์ที่ไม่ปลอดภัย
  • เลือกยาหยอดตาภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรรักษาด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้แผลที่บริเวณกระจกตาถลอกมากขึ้นได้ หรืออาจรักษาไม่ถูกวิธี

 

อาการแทรกซ้อนจากอาการกระจกตาถลอกมีอะไรบ้าง

นอกจากอาการต่างๆ ที่เกิดจากการที่กระจกตาเป็นแผลแล้ว กระจกตาถลอกยังสามารถมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ด้วย เช่น

  • เกิดการติดเชื้อ เนื่องจากมีเชื้อเข้าสู่แผลบริเวณที่กระจกตาถลอก
  • เกิดการอักเสบที่ชั้นตาลึกขึ้นเมื่อไม่ได้รับการรักษา ทำให้อาจเสียการมองเห็นได้

 

เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์จากอาการกระจกตาถลอก

เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์จากอาการกระจกตาถลอก?

             เมื่อรู้สึกเจ็บปวดที่ดวงตา เห็นรอยแผลบริเวณดวงตาหรือรู้สึกว่าดวงตามีอาการผิดปกติหลังเกิดเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อดวงตาได้ โดยมีอาการตาพร่า น้ำตาไหลและมองภาพไม่ชัด ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที ซึ่งหากพบแพทย์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น มีอาการแสบหรืออาการข้างเคียงอื่นๆ มากขึ้น ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อแก้ไขหรือหาทางรักษาอื่นๆ 

             อาการกระจกตาเป็นแผลหรือกระจกตาถลอก คือ ความผิดปกติที่ดวงตา เกิดจากการหลุดลอกของเยื่อบุผิวบริเวณกระจกตา หากปล่อยไว้หรือไม่ได้รักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เกิดอาการอื่นๆ ตามมา เช่น การอักเสบ ติดเชื้อ หรือถึงขั้นเสียการมองเห็นได้ ดังนั้น หากรู้สึกถึงความผิดปกติของดวงตา เช่นมองเห็นบาดแผลที่บริเวณดวงตา เกิดอาการเจ็บปวด ไม่สามารถมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน หรือดวงตาไม่สู้แสง จึงควรไปปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษา ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดกระจกตาถลอกหรือกระจกตาเป็นแผล ควรหมั่นล้างมือ รักษาความสะอาด หลีกเลี่ยงการถูหรือขยี้ดวงตาแรงๆ หลีกเลี่ยงบริเวณที่อาจทำให้สิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตาได้ง่าย และใส่ใจกับการเลือกคอนแทคเลนส์ที่ได้มาตรฐาน หากมีอาการที่ผิดปกติ หรือต้องการปรับแต่งรูปทรงของดวงตา สามารถขอคำปรึกษาและหาทางแก้ไขได้ที่ Lovely Eye Clinic เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี และไม่เสี่ยงต่อการเป็นกระจกตาถลอก