fbpx ปัญหาสายตา แว่นตาและคอนแทคเลนส์ ภาวะสายตาสั้น สายตายาว คืออะไร

ปัญหาสายตา แว่นตาและคอนแทคเลนส์

ปัญหาสายตา แว่นตาและคอนแทคเลนส์

                   กระบวนการมองเห็นของเราเกิดขึ้นได้จากการที่แสงตกกระทบวัตถุ สะท้อนเข้าสู่เลนส์ตา ก่อนจะตกกระทบกับจอประสาทตาและส่งข้อมูลไปยังสมอง เพื่อทำการวิเคราะห์และแปลผล ว่าวัตถุที่เห็นอยู่ตรงหน้านั้นคืออะไร แต่เมื่ออวัยวะของดวงตาบางอย่างมีความผิดปกติ จะทำให้สายตาเกิดความผิดปกติและมีการมองเห็นที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมได้ ซึ่งปัจจุบันภาวะความผิดปกติของสายตามีอยู่ด้วยกัน 4 รูปแบบ

ปัญหาสายตา แว่นตาและคอนแทคเลนส์

1. ภาวะสายตาสั้น (Myopia)

                   เป็นภาวะที่ดวงตามองเห็นวัตถุในระยะไกลไม่ชัดเจน อาจเห็นเป็นภาพลางๆ ในขณะที่มองเห็นวัตถุที่อยู่ในระยะใกล้ได้ชัดเจน เกิดจากกระจกตาหรือเลนส์ตามีความโค้งกว่าปกติ จากการที่ลูกตามีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวกว่าปกติ หรือกระบอกตายาวกว่าปกติ เมื่อมองวัตถุที่อยู่ระยะไกลออกไป จะเกิดการรวมแสงตกกระทบก่อนถึงจอประสาทตา ทำให้มองเห็นวัตถุได้ไม่ชัดเจน

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้น

                   - พันธุกรรม

ความโค้งของกระจกตา เลนส์ตา หรือความยาวของลูกตา ที่มีผลต่อการทำให้สายตาสั้น ส่วนใหญ่เป็นการรับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งจะทำให้เกิดเคสสายตาสั้นในเด็กแรกเกิดได้

                   - พฤติกรรมการใช้ชีวิต

การใช้สายตาจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน โดยเฉพาะคนทำงานที่ต้องอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นานถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้สายตาโฟกัสเฉพาะภาพที่อยู่ใกล้ ไม่ได้มีการพักสายตา หรือมองไปในที่ไกลๆ ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้น

ปัญหาสายตา แว่นตาและคอนแทคเลนส์

2. ภาวะสายตายาว (Hyperopia)

                   เป็นภาวะที่มองวัตถุที่อยู่ใกล้ไม่ชัด ในขณะที่สามารถมองวัตถุที่อยู่ไกลได้ชัดเจน เกิดจากกระจกตาที่แบนหรือลูกตาที่เล็กกว่าปกติ เมื่อมองวัตถุที่อยู่ใกล้ตา แสงจากวัตถุไม่โฟกัสบนจอประสาทตา แต่กลับโฟกัสที่หลังจอประสาทตาแทน จึงทำให้เห็นวัตถุไม่ชัดเจน

อาการแบบไหน เข้าข่ายคนสายตายาว

                   - มองวัตถุอยู่ใกล้ไม่ชัด

                   - อ่านหนังสือไม่ถนัด

                   - ร้อยด้ายไม่เข้า

                   - ไม่สบายตาหรือปวดศีรษะเวลาอ่านหนังสือ หรือใช้คอมพิวเตอร์นานๆ

                   - มองไม่ชัด ตอนกลางคืน

                   - ปวดตา

                   - ตาไม่สู้แสง

ปัญหาสายตา แว่นตาและคอนแทคเลนส์

3. ภาวะสายตาเอียง (Astigmatism)

                   เกิดจากความผิดปกติของกระจกตาหรือเลนส์ตาที่โค้งผิดรูป ทำให้เกิดจุดหักเหแสงมากกว่า 1จุด จึงมีผลกระทบต่อการโฟกัสแสง ทำให้เห็นภาพซ้อน มองเห็นไม่ชัดทั้งระยะใกล้และระยะไกล เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ได้ทุกช่วงอายุ คนที่มีภาวะสายตาเอียง จะรู้สึกตาพร่า และอาจมองภาพสีเข้มหรือขนาดเล็กได้ยากกว่าปกติ

อาการแบบไหน เข้าข่ายคนสายตาเอียง

                   - มองตัวเลขผิดเพี้ยน เพราะเห็นเป็นภาพซ้อน

                   - ถ้ามองในที่ๆ แสงน้อย จะเห็นภาพที่มีแสงสีขาวกระจายฟุ้งๆ รอบๆ

                   - ติดนิสัยชอบหรี่ตาเวลามอง

                   - ปวดศีรษะเมื่อต้องใช้สายตานานๆ

 

ปัญหาสายตา แว่นตาและคอนแทคเลนส์

4. ภาวะสายตายาวในผู้สูงอายุ (Presbyopia)

                   เป็นภาวะสายตาเสื่อมลงตามวัย พบในคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสายตา เลนส์ตาจะขาดความยืดหยุ่น รวมถึงสูญเสียความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเพ่งมอง การปรับสายตาจึงทำได้ยากขึ้น ทำให้ความสามารถในการมองเห็นวัตถุในระยะใกล้ลดลง หรือมองภาพระยะใกล้แล้วรู้สึกไม่สบายตา ในขณะที่การมองเห็นในระยะไกลยังคงทำงานได้ดีอยู่

อาการแบบไหน เข้าข่ายสายตายาวในผู้สูงอายุ

                   - มองใกล้ไม่ชัด สังเกตว่าเวลาอ่านหนังสือ อาจต้องยืดสุดแขน เพื่อให้หนังสือไกลจากสายตามากขึ้น

                   - เพ่งมองนานๆ แล้วรู้สึกปวดตา หรือปวดศีรษะ อาจมีอาการแสบตา เคืองตาจากการเพ่ง

                   - มองไม่ชัดในแสงสลัว

 

วิธีแก้ไขปัญหาสายตายอดฮิต

ปัญหาสายตา แว่นตาและคอนแทคเลนส์

1. สวมแว่นสายตา

                   เป็นวิธีการแก้ปัญหาสายตาที่เป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะช่วยให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น และมีผลกระทบต่อดวงตาน้อยมากที่สุดนั่นเอง

Tip ดีๆ สำหรับคนมีปัญหาสายตา :

                   - รู้จัก ‘ค่าสายตา’ ก่อนไปตัดแว่น

                   เวลาไปตัดแว่นที่ร้านบริการตรวจวัดสายตา จะได้รับใบแจ้งค่าสายตา ซึ่งมีตัวย่อเป็นภาษาอังกฤษและตัวเลขต่างๆ ซึ่งตัวย่อหรือตัวเลขแต่ละตัว จะแปลค่าสายตาว่าอย่างไรบ้าง ไปเรียนรู้กันเลย

                   SPH = ค่าสายตา ในเคสสายตาสั้น จะมีค่าสายตาเป็น - (ลบ) และเคสสายตายาว จะมีค่าสายตาเป็น + (บวก) โดยเราจะเริ่มมองเห็นไม่ชัดที่ค่า -1.50 หรือ +1.50 เป็นต้นไป

                   CYL = ค่าความเอียง ยิ่งค่าลบมาก แปลว่าภาพที่เห็นจะยิ่งเพี้ยนมาก หรืออาจเห็นเป็นภาพซ้อนกันได้

                   AX = องศาที่เอียง

                   <R> = ตาขวา

                   <L> = ตาซ้าย

                   - รู้จัก ‘เลนส์สายตา’

                   1. เลนส์ชั้นเดียว

                   เหมาะกับ คนทุกช่วงวัยที่มีปัญหาสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง สายตายาวในผู้สูงอายุ

                   2. เลนส์สองชั้น

                   เหมาะกับ คนที่มีสายตายาวตามวัย 40 ปีขึ้นไป ที่มีปัญหาในการมองระยะใกล้ เลนส์สองชั้น ช่วยให้สามารถมองเห็นชัดเจนได้ทั้งระยะใกล้และไกลไม่ต้องถอดแว่น โดยแว่นตาส่วนบน ใช้สำหรับการมองในระยะไกล และแว่นตาส่วนล่าง จะใช้สำหรับการมองในระยะใกล้

                   3. เลนส์โปรเกรสซีฟ

                   เหมาะกับ คนที่มีสายตายาวตามวัย 40 ปีขึ้นไป ที่มีปัญหาในการมองหลายระยะ สามารถมองได้ทั้งระยะไกล ระยะกลาง และระยะใกล้ โดยไม่ต้องถอดแว่น

                   - รู้จัก ‘เลนส์ย่อ’

                   1. เลนส์ย่อขนาด 1.5 เป็นเลนส์ที่มีความหนาปกติ เหมาะกับคนที่มีค่าสายตาไม่มาก

                   2. เลนส์ย่อขนาด 1.6 เป็นเลนส์ย่อบาง เหมาะกับคนที่มีค่าสายตาไม่เกิน 500

                   3. เลนส์ย่อขนาด 1.67 เป็นเลนส์ย่อบางพิเศษ​ เหมาะกับคนที่มีค่าสายตาไม่เกิน 1000

                   4. เลนส์ย่อขนาด 1.71 หรือ 1.74 เป็นเลนส์ย่อบางพิเศษที่ต้องสั่งทำ เหมาะกับคนที่มีค่าสายตามากกว่า 1000

ปัญหาสายตา แว่นตาและคอนแทคเลนส์

2. ใส่คอนแทคเลนส์

                   เพื่อให้ได้คอนแทคเลนส์ที่เหมาะสมกับดวงตามากที่สุด ควรตรวจวัดค่าสายตาและความโค้งของกระจกตาอย่างละเอียด โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านสายตาโดยตรง เพราะถ้าเลือกคอนแทคเลนส์ที่มีความโค้งไม่เหมาะสม ก็อาจทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกไม่สบายตา

Tip ดีๆ สำหรับคนมีปัญหาสายตา :

                   - รู้จัก ‘ชนิดของคอนแทคเลนส์’

                   1. ชนิดแข็ง

                   ทำจากพลาสติกแข็ง มีลักษณะใส มีข้อเสียตรงที่ออกซิเจนผ่านได้น้อย ไม่สามารถใส่เป็นเวลานานๆ เพราะอาจเกิดปัญหาตาแห้งได้ เหมาะกับคนที่มีปัญหาสายตาหนักๆ เช่น สายตาสั้นมาก สายตายาวมาก หรือสายตาเอียงมาก เป็นต้น

                   2. ชนิดนิ่ม

                   ทำจากพลาสติกที่มีความยืดหยุ่นสูง อุ้มน้ำได้สูง ออกซิเจนสามารถผ่านได้ง่าย มีระยะการใส่ที่ยาวนานกว่าคอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง เหมาะกับคนที่ไม่ได้มีปัญหาสายตาหนักมากนัก

                   - รู้จัก ‘วิธีเลือกคอนแทคเลนส์’

                   1. เลือกค่าความชัดเหมาะสมกับสายตา

                   2. เลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ หลีกเลี่ยงการซื้อคอนแทคเลนส์ที่ตรวจสอบข้อมูลไม่ได้ เช่น ตามแผงลอย ตลาดนัด หรือตามร้านในอินเตอร์เน็ต

                   3. เลือกอายุการใช้งานให้เหมาะสมกับระยะเวลาที่ต้องการใช้งาน อย่าฝืนใช้เกินอายุ เพราะวัสดุจะเสื่อมสภาพ

ปัญหาสายตา แว่นตาและคอนแทคเลนส์

                   - รู้จัก ‘วิธีใส่และถอดคอนแทคเลนส์’

                   1. ล้างมือให้สะอาดก่อนใส่และถอดคอนแทคเลนส์ทุกครั้ง

                   2. ไม่ควรทาครีมที่มือก่อนใส่และถอดคอนแทคเลนส์

                   3. วางคอนแทคเลนส์ลงบนปลายนิ้ว โดยหันให้ถูกด้าน หากวางได้ถูกต้องคอนแทคเลนส์จะเป็นรูปถ้วย ไม่บานออก

                   4. ใช้มืออีกข้างง้างเปลือกตาบนกับเปลือกตาล่างออกจากกัน ใช้วิธีก้มหน้าลงมองกระจก จะช่วยให้ใส่ได้ง่ายขึ้น

                   5. เวลาถอดคอนแทคเลนส์ ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้จีบเข้าหากัน เพื่อหยิบคอนแทคเลนส์ออกจากดวงตา

                   6. เปลี่ยนน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์ทุกครั้งที่มีการใช้งาน

 

3. ทำเลสิค

                   เป็นการแก้ไขปัญหาสายตาด้วยเลเซอร์ โดยการปรับเปลี่ยนความโค้งของผิวกระจกตา จะช่วยแก้ไขสำหรับผู้ที่มีสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง ให้สายตากลับมาเป็นปกติ หรือใกล้เคียงปกติอย่างถาวร เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงและเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการสวมแว่นสายตา หรือใส่คอนแทคเลนส์