fbpx ตาแดง-เยื่อบุตาอักเสบ อาการเป็นแบบไหนดูแลอย่างไร

ตาแดง-เยื่อบุตาอักเสบ อาการเป็นแบบไหนดูแลอย่างไร

ตาติดเชื้อ เยื่อบุตาอักเสบ จากแบคทีเรีย

         หลายๆ คนอาจจะรู้จัก เยื่อบุตาอักเสบ (Conjuctivitis) ในชื่อตาแดง และอาจเคยเจอแล้วผ่านเพื่อนหรือคนใกล้ชิด สามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย แถมเป็นได้ทุกฤดูกาล ส่วนใหญ่อาการตาติดเชื้อจะระบาดในสถานที่คนพลุกพล่าน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล โรงงาน รถไฟฟ้า สระว่ายน้ำ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่เวลาเป็นแล้วสามารถหายได้เอง จนหลายคนอาจมองว่าไม่เป็นอันตราย เรามาดูกันว่าเนื้อแท้ของเจ้าโรคตาแดงหรือ Conjuctivitis เป็นอย่างไร ผ่านคำบอกเล่าของแพทย์หญิงณัฐฐามณี สิริภคพันธ์ หรือหมอรวงข้าว จักษุแพทย์ผู้ชำนาญด้านการทำตาสองชั้นและดูแลความงามรอบดวงตาแห่ง Lovely Eye & Skin Clinic กันเลย

Table of Contents

  1. เยื่อบุตาอักเสบ คืออะไร
  2. อาการของเยื่อบุตาอักเสบ
  3. สาเหตุของเยื่อบุตาอักเสบ
  4. การวินิจฉัยเยื่อบุตาอักเสบโดยคร่าว
  5. ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นจากเยื่อบุตาอักเสบ
  6. วิธีการดูแลและมาตรการรักษาเมื่อเป็นเยื่อบุตาอักเสบ
  7. การป้องกันตัวเพื่อหลีกเลี่ยงเยื่อบุตาอักเสบ

 

เยื่อบุตาอักเสบ คืออะไร

         เยื่อบุตาอักเสบ (Conjuctivitis) หรือโรคตาแดง เป็นจากการอักเสบที่เกิดในส่วนของเยื่อบุตาขาว จนทำให้ตาขาวเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีแดงอ่อน หรือสีแดงจัด ขึ้นอยู่กับระดับการอักเสบ ซึ่งโรคตาแดง เกิดจากการติดเชื้อ โดยหลักๆ มักเป็นเชื้อโรคประเภทไวรัสและแบคทีเรีย แม้โรคตาแดงจะไม่ใช่โรคที่รุนแรง แต่ก็เป็นโรคติดต่อที่ติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็ว ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วยและเผลอสัมผัสที่ดวงตาโดยไม่รู้ตัว การไอจามรดกัน การใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น เครื่องสำอาง แว่นตา ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น หรือการได้รับเชื้อโดยตรงจากพาพะนำโรค เช่น แมลงวัน แมลงหวี่ เป็นต้น ซึ่งหากแบ่งตามลักษณะโรคตาติดเชื้อแล้ว สามารถแบ่งออกเป็น 3 แบบ ได้แก่

  • เยื่อบุตาอักเสบ จากแบคทีเรีย

         อาการเด่นๆ ของภาวะเยื่อบุตาอักเสบจากแบคทีเรีย คือ มีอาการอักเสบที่เยื่อบุตาขาว ทำให้มีลักษณะตาแดง ตาติดเชื้อ เกิดจากภาวะขยายตัวของเส้นเลือดฝอยในตาจนมีสีแดงก่ำ มีขี้ตามาก อาจเป็นสีขุ่นข้นคล้ายหนอง สีเหลือง หรือสีเขียว ติดเป็นก้อนแข็งตามขอบตาและขนตา ลืมตาลำบากตอนตื่นนอน เพราะของเหลวที่เคลือบอยู่ตามขอบตาและขนตา ทำให้เปลือกตาหรือขนตาติดกัน อาจมีอาการแพ้แสงร่วมด้วย เพราะอาการตาแดง อาจทำให้ตาไวต่อแสงมากขึ้น จะทำให้รู้สึกไม่สบายตา หรือระคายเคืองตา เมื่อดวงตาสัมผัสกับแสงต่างๆ 

วิธีการสังเกตอาการตาอักเสบจาก แบคทีเรีย

 โดยทั่วไปภาวะเยื่อบุตาอักเสบจากแบคทีเรีย สามารถหายเองได้ในระยะเวลา 2-5 วัน หรือบางเคสที่มีอาการมาก อาจเป็นนานถึง 3-4 สัปดาห์ ซึ่งการใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมกับอาการของโรค จะช่วยให้หายจากอาการตาแดงได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ควรพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ดีที่สุด

  • เยื่อบุตาอักเสบ จากไวรัส

         อาการเยื่อบุตาอักเสบจากไวรัส มีอาการตาแดงอย่างเฉียบพลัน เพราะเยื่อบุตาขาวตามปกติในตอนสุขภาพดี จะมีสีขาวใส ไม่ขุ่นมัว ไม่มีเส้นเลือดฝอยในตาขาว แต่เมื่อเป็นโรคตาแดง เยื่อบุตาขาวจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหลังจากติดเชื้อ ทำให้เกิดอาการเคืองตาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเวลามองแสง เหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา และอาจมีอาการแพ้แสงด้วย ทำให้รู้สึกปวดเบ้าตา เจ็บในดวงตา อาจรู้สึกปวดตุบๆ และร้อนในตาได้ อาจมีอาการตาแฉะ น้ำตาไหล จากการระคายเคืองตา คันตา แสบตา เปลือกตาบวมและอักเสบรอบดวงตา บางคนอาจมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตหน้าใบหูร่วมด้วย ทำให้รู้สึกถึงก้อนบวมแดง กดเจ็บ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย

วิธีการสังเกตอาการตาอักเสบจาก ไวรัส

หลังจากได้รับเชื้อไวรัสแล้ว จะเกิดอาการอย่างรวดเร็วภายใน 1-2 วัน แต่มีระยะเวลาแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้นานถึง 2 สัปดาห์เลยทีเดียว โดยโรคนี้จะระบาดหนักๆ ในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่อาจมีน้ำสกปรกขังตามพื้นถนนกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคตาแดงได้เช่นกัน เมื่อเป็นแล้ว จะใช้ระยะเวลานานถึง 10-14 วันในการรักษาให้หาย 

  • เยื่อบุตาอักเสบ จากโรคภูมิแพ้

         เป็นภาวะเยื่อบุตาอักเสบที่เกิดจากการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็นสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ เชื้อรา ฝุ่นละออง แมลงสาบ เป็นต้น หรือสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร เช่น อาหารทะเล นมวัว ถั่วต่างๆ เป็นต้น หรือบางคนอาจแพ้สารเคมีที่ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือแพ้แมลงสัตว์กัดต่อย เมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ที่เยื่อบุตาขาว จะทำให้เกิดการอักเสบ คันตา ตาแดงได้

วิธีการสังเกตอาการตาอักเสบจาก โรคภูมิแพ้

 ตาอักเสบจากภูมิแพ้ จะมีอาการคันตามาก ตาแดง ระคายเคืองตา น้ำตาไหล ตาไม่สู้แสง ตาบวม รู้สึกเหมือนมีผงอยู่ในตา ส่วนใหญ่เป็นกับดวงตาทั้งสองข้าง หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้ตามัว หรือตาบอดได้ พบร่วมกับอาการโรคภูมิแพ้อื่นๆ เช่น เป็นผื่นแดง คันตามผิวหนัง คันจมูก น้ำมูกไหล แน่นหน้าอก หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หน้ามืด หรือหมดสติ เป็นต้น   

 

อาการของเยื่อบุตาอักเสบ

  • ตาติดเชื้อ ทำให้บริเวณตาขาวเปลี่ยนเป็นสีแดง
  • มีอาการแดงที่เปลือกตาด้านใน
  • คันระคายเคืองตา แสบตา
  • เยื่อบุตาบวม
  • ตาแฉะ มีน้ำตาไหลมากผิดปกติ
  • รู้สึกเหมือนมีผงทรายอยู่ในตา
  • ตาไวแสง
  • มีขี้ตา ทำให้ลืมตาลำบาก
  • ใส่คอนแทคเลนส์แล้วรู้สึกไม่สบายตา

 

สาเหตุของเยื่อบุตาอักเสบ

  • ตาติดเชื้อไวรัส ทำให้เกิดการเจ็บคอและไข้สูง
  • ตาติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดอาการไข้ ไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ เช่น สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส  สเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี เป็นต้น 
  • ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน
  • ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย เช่น คนที่เป็นโรคเบาหวาน คนที่ใช้ยาสเตียรอยด์
  • เป็นโรคเปลือกตาอักเสบ
  • อยู่ในพื้นที่ที่มีคนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เช่น ห้องเรียน ออฟฟิศ รถไฟฟ้า คอนเสิร์ต เป็นต้น
  • สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้

 

การวินิจฉัยเยื่อบุตาอักเสบโดยคร่าว

  • อาการตาแดงที่มาพร้อมกับไข้หวัด หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เข้าข่ายภาวะเยื่อบุตาอักเสบ จากไวรัส
  • อาการตาแดง มีขี้ตาสีเหลืองที่ขอบตาหรือขนตา รวมถึงมีอาการติดเชื้อในหู เข้าข่ายภาวะเยื่อบุตาอักเสบ จากแบคทีเรีย
  • อาการตาแดง ที่มีอาการหลักๆ คือคันตามาก น้ำตาไหล ตาบวม เข้าข่ายภาวะเยื่อบุตาอักเสบ จากโรคภูมิแพ้

 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นจากเยื่อบุตาอักเสบ

  • เยื่อบุตาอักเสบจากแบคทีเรีย ในบางกรณีอาจอันตรายถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ เช่น การติดเชื้อหนองใน เพราะแบคทีเรียชนิดนี้สามารถเข้าสู่กระจกตา ทำลายพื้นผิวกระจกตาให้เกิดความเสียหาย หรือทำให้ตาบอดได้เลยทีเดียว 
  • หากเชื้อหนองในขึ้นตา ผู้ป่วยจะมีลักษณะอาการที่เด่นชัด คือมีขี้ตาเยอะ เช็ดให้สะอาดไม่นานก็จะมีขี้ตาซึมออกมาใหม่ตลอด ดวงตารู้สึกระคายเคือง เจ็บและบวม
  • เยื่อบุตาอักเสบชนิดนี้ สามารถติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ หรือจากแม่สู่ลูก แม้ปัจจุบันจะเกิดขึ้นน้อย แต่หากมีอาการตาแดงจากแบคทีเรียชนิดนี้ ต้องทำการรักษาโดยด่วน เพราะเชื้อหนองใน นอกจากทำให้ตาอักเสบ ยังทำลายลูกตาดำด้วย
  • เยื่อบุตาอักเสบ อาจเป็นสาเหตุของภาวะกระจกตาอักเสบ ทำให้เกิดอาการเจ็บตา ตามัว ตาแพ้แสง ส่งผลต่อการมองเห็นได้ด้วย

 

วิธีการดูแลและมาตรการรักษาเมื่อเป็นเยื่อบุตาอักเสบ

1. ใช้ยารักษาตามอาการ

ตาแดงจากไวรัสส่วนใหญ่จะหายได้เอง โดยใช้เวลาประมาณ 10-14 วัน โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แต่แพทย์อาจพิจารณาให้ยารักษาตามอาการ เช่น หากมีอาการอักเสบมาก อาจรับประทานยาลดอาการอักเสบ หากมีอาการเจ็บตา อาจรับประทานยาแก้ปวด หากมีอาการคัน อาจรับประทานยาแก้คัน เพื่อบรรเทาอาการต่างๆ ให้รู้สึกสบายตามากขึ้น

2. ใช้ยาปฏิชีวนะ

หากเป็นตาแดงจากแบคทีเรีย แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา เพื่อลดความรุนแรงและร่นระยะเวลาของอาการ ทำให้หายป่วยได้ไวขึ้น และยังลดความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนได้ด้วย

3. หยุดเรียน ลางาน

ควรหยุดเรียน หรือกรณีที่ทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ควรลางาน อย่างน้อย 3 วัน และอยู่บ้านรักษาตัวให้อาการดีขึ้น เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่เพื่อนร่วมคลาส เพื่อนร่วมงาน หรือคนที่ผู้ป่วยพบปะตามพื้นที่สาธารณะ

4. พักการใช้สายตา และควรพักผ่อนให้เต็มที่

เพื่อลดอาการปวด และยังช่วยให้ดวงตาฟื้นฟูสภาพได้เร็วขึ้น นอกจากนี้เมื่อสุขภาพแข็งแรงแล้ว จะทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานได้ดีขึ้น

5. งดใส่คอนแทคเลนส์

ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์และมีอาการตาแดงจากการติดเชื้อ ไม่ควรนำคอนแทคเลนส์เก่ามาใช้ใหม่ และควรงดใส่คอนแทคเลนส์อย่างน้อย 1 เดือน

6. ประคบเย็นบริเวณดวงตา

หากมีอาการตาบวมและคันตา สามารถประคบดวงตาด้วยความเย็น เพื่อช่วยลดอาการบวมและการระคายเคือง

7. ใช้กระดาษสะอาดซับดวงตา

หากมีน้ำตาไหล หรือมีขี้ตา ควรใช้กระดาษเช็ดทำความสะอาดแทนการใช้ผ้า เพราะสามารถใช้แล้วทิ้งได้ทันที หรืออาจใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกเช็ดเบาๆ บริเวณดวงตาให้สะอาด   

8. สวมแว่นกันแดด

หากต้องออกจากบ้าน ควรสวมแว่นกันแดด เพื่อลดอาการระคายเคืองแสง

9. หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่สาธารณะ

หากผู้ป่วยไปในพื้นที่สาธารณะ ที่มีคนเป็นจำนวนมาก หรือใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ ของใช้ภายในสำนักงาน หรือลูกบิดประตู ล้วนเพิ่มโอกาสในการแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ง่ายขึ้น เพราะตาแดงเป็นโรคติดต่อ ผู้ป่วยจึงควรอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อสุขอนามัยของตนเองและคนรอบข้าง

 

การป้องกันตัวเพื่อหลีกเลี่ยงเยื่อบุตาอักเสบ

1. ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ

ควรล้างมือให้สะอาด ปราศจากเชื้ออยู่เสมอ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อ เวลาที่เผลอนำมือไปสัมผัสดวงตา และยังลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น กรณีที่เป็นตาแดงด้วย

2. หลีกเลี่ยงการขยี้ตา สัมผัสที่ดวงตา

การขยี้ตา นอกจากจะไม่หายคันแล้วยังทำให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบมากขึ้น นอกจากนี้กรณีที่เป็นเยื่อบุตาอักเสบข้างเดียว ยังทำให้เกิดการแพร่เชื้อจากตาข้างหนึ่งสู่ตาอีกข้างได้ด้วย

3. หมั่นเปลี่ยนปลอกหมอน

เปลี่ยนปลอกหมอนให้บ่อยขึ้น หากทำได้ควรเปลี่ยนทุกวัน เพื่อรักษาความสะอาดและกำจัดเชื้อโรค

4. ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย

หากมีเพื่อนหรือคนใกล้ชิดเป็นเยื่อบุตาอักเสบ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งคัดหลั่ง หรือของใช้ส่วนตัวที่อาจปนเปื้อนสิ่งคัดหลั่งผู้ป่วย เช่น แว่นตา ยาหยอดตา เครื่องสำอาง ผ้าขนหนู เป็นต้น

5. เลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้

จัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม เช่น ไม่วางตุ๊กตาหรือพรมในห้องนอน เพราะตุ๊กตาหรือพรมเป็นแหล่งสะสมฝุ่น ปิดฝาถังขยะ ป้องกันแมลงสาบ ตรวจวัดความชื้นภายในบ้านสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันเชื้อรา เป็นต้น

6. หากแพ้อาหาร ควรศึกษาส่วนผสมของอาหาร

การอ่านฉลากหรือศึกษาหาข้อมูลของอาหารหรือผลิตภัณฑ์เป็นประจำ ทำให้รู้ส่วนประกอบของอาหารที่รับประทานว่าไม่มีส่วนผสมของอาหารที่แพ้ ช่วยป้องกันเยื่อบุตาอักเสบ จากโรคภูมิแพ้ได้

         เมื่อเป็นโรคตาแดง ควรรีบรักษาให้หายขาด เพื่อไม่ให้เชื้อลุกลาม แทรกซ้อน จนเป็นอันตรายต่อดวงตาของตนเองและผู้อื่น เมื่อไหร่ที่มีอาการที่รู้สึกว่าเข้าข่ายเยื่อบุตาอักเสบ ลองสังเกตอาการดวงตาของตัวเองกันว่าอาการตาแดงที่เกิดขึ้น เป็นอาการตาแดงจากไวรัส จากแบคทีเรีย หรือจากโรคภูมิแพ้กันแน่ จะได้หาแนวทางรักษาได้ถูกต้อง