fbpx โรค mg คืออะไร? อันตรายวัยทำงาน | Lovely Eye Clinic

โรค MG (myasthenia gravis) คืออะไร ? อันตรายวัยทำงาน

โรค MG หรือโรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง สาเหตุ คืออะไร

           เปลือกตาตก ตาปรือ หรือที่เราเรียกว่า กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงนั้น อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความหย่อนยานของกล้ามเนื้อตาตามวัย การใส่คอนแทคเลนส์เป็นประจำ หรือกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงแต่กำเนิด เป็นภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ยังมีอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงที่ไม่ควรมองข้าม มีชื่อว่า myasthenia gravis คือ โรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง MG (myasthenia gravis) ที่ส่งผลให้คนไข้มีอาการเปลือกตาตก ตาปรือได้เช่นเดียวกับภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงชนิดอื่น แต่มีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน สำหรับคนที่มีอาการตาปรือ เปลือกตาตก แล้วสงสัยว่าตนเองจะเป็นโรค MG หรือไม่ ลองมารู้จักโรค MG ว่า myasthenia gravis คืออะไร ให้มากขึ้นกัน

Table of Contents

โรค MG (Myasthenia gravis) คืออะไร?
          เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เนื่องจากร่างกายสร้างแอนติบอดี้บางชนิดขึ้นมายับยั้งหรือทำลายโปรตีน ที่มีบทบาทสำคัญในการรับสารอะซีทิลคอลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่อยู่บริเวณรอยต่อเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ เมื่อกล้ามเนื้อไม่สามารถรับสัญญาณจากเส้นประสาทได้ จะก่อให้เกิดอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้ลดลง โรค MG นี้ มักพบในเพศหญิง อายุ 20-40 ปี และเพศชาย อายุ 50 ปีขึ้นไป

สาเหตุโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง MG กรรมพันธิ์ การหย่อนที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง MG มีสาเหตุจากอะไร

  • ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน

           เนื่องจากร่างกายสร้างแอนติบอดี้บางชนิดขึ้นมายับยั้งหรือทำลายโปรตีน ที่มีบทบาทสำคัญในการรับสารอะซีทิลคอลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่อยู่บริเวณรอยต่อเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ เมื่อกล้ามเนื้อไม่สามารถรับสัญญาณจากเส้นประสาทได้ จะก่อให้เกิดอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้ลดลง

  • ต่อมไทมัสโตผิดปกติ 

           โดยปกติแล้ว ต่อมไทมัสจะมีขนาดใหญ่ในช่วงวัยเด็ก และจะมีขนาดเล็กลงเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ แต่ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง จะมีต่อมไทมัสที่ใหญ่เกินปกติ ส่งผลให้ร่างกายผลิตสารแอนติบอดี้ต่อโปรตีนที่รับสารอะซีทิลคอลีนในปริมาณมาก จึงส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ

  • พันธุกรรม 

           แม้ว่าส่วนใหญ่สาเหตุของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง MG จะเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายก็ตาม แต่ก็พบว่ามีผู้ป่วยโรค MG บางส่วนที่มีญาติพี่น้องเป็นโรค MG เช่นกัน

อาการที่พบบ่อยของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง MG

  • เปลือกตาตก ลืมตาลำบาก 
  • ตาดูไม่เท่ากัน (กรณีเปลือกตาตกเพียงข้างเดียว)
  • เห็นภาพซ้อน กลอกตาไม่ได้ ตาเหล่ผิดไปจากปกติ
  • หลับตาไม่สนิท โฟกัสภาพลำบาก หากได้พักแล้วจะดีขึ้น
  • กล้ามเนื้อแขนไม่มีแรง กำมือข้างใดข้างหนึ่งไม่ได้ ทำให้แขนลีบลง
  • รู้สึกปวดกล้ามเนื้อแขน หรือไหล่ อาจทำให้เกิดการกระตุก 
  • ลิ้นเกร็งแข็ง กลืนลำบาก สำลักง่าย หากมีอาการหนัก อาจไม่สามารถรับประทานอาหารเองได้
  • หายใจไม่สะดวก เพราะไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของกระบังลมได้

การวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง MG

  • การนอนหลับพัก (Sleep Test)

           ถ่ายรูปเปรียบเทียบ ระหว่างก่อนนอน หลังนอนพักผ่อนประมาณ 1 ชั่วโมง และหลังทำกิจกรรมตามปกติสักพักหนึ่ง โดยสังเกตการลืมตา หากก่อนนอน หนังตาตก ลืมตาลำบาก แต่เมื่อนอนพักผ่อนแล้ว ลืมตาได้ดีขึ้น ดวงตากลับมาดูสดใส แต่เมื่อทำกิจกรรมไปสักพักแล้วดวงตากลับมาหรี่ลง หนังตาตก ก็อาจเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง MG ได้

  • การประคบน้ำแข็ง (Ice Test)

           วางน้ำแข็งไว้บนเปลือกตาขณะหลับตา ประมาณ 2 นาที และวัดความกว้างของดวงตา หากความกว้างของดวงตาก่อนวางน้ำแข็ง ต่างกับหลังวางน้ำแข็งบนเปลือกตา เกิน 2 มิลลิเมตร อาจเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง MG

  • ตรวจที่โรงพยาบาล

การตรวจโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง MG อาจมีการตรวจหาไทรอยด์ ตรวจภูมิคุ้มกัน ตรวจกระแสไฟฟ้ากล้ามเนื้อ หรือตรวจหาเนื้องอกต่อมไทมัส ฯลฯ

โรค MG ต่างจากภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงอย่างไร

           ลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง คือ ผู้ป่วยโรค MG จะมีอาการเปลือกตาตกไม่คงที่ในระหว่างวัน ตื่นนอนตอนเช้า มีอาการไม่มาก ตกบ่าย หรือเย็นๆ หลังเลิกงาน อาการเป็นมากขึ้น ถ้าได้พักการใช้งาน เช่น หลับตาสักพัก อาการจะดีขึ้น นอกจากนี้อาจมีภาวะกล้ามเนื้อควบคุมการกลอกตาอ่อนแรงร่วมด้วย ทำให้เห็นภาพซ้อน หรือ ตาเหล่ ตาเขได้

  วิธีการรักษาโรค MG โดยการผ่าตัด

 

โรค MG อันตรายหรือไม่

           อันตรายของโรค MG คือ ในบางรายอาจมีกล้ามเนื้ออ่อนแรงทั้งร่างกายได้ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีแรก ทำให้มีอาการแขนขาอ่อนแรง กลืนลำบาก เสียงแหบ ซึ่งหากมีอาการในส่วนของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการหายใจอ่อนแรงร่วมด้วย อาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

หากเป็นโรค MG ควรรักษาอย่างไร

           หลักการรักษาของโรค MG คือการให้ยารับประทาน เพื่อกดภูมิคุ้มกัน ไม่ให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ตัวที่ก่อปัญหาขึ้นมา ร่วมกับให้ยาเพิ่มกำลังการทำงานของกล้ามเนื้อ เมื่ออาการดีขึ้น แพทย์จะค่อยๆ ปรับลดขนาดยาให้เหมาะสม ในบางรายที่มีอาการรุนแรงจะพิจารณาผ่าตัดต่อมไทมัสร่วมด้วย

 

สกรีนช็อต 2023-02-14 193747.png

ข้อมูลโดย นพ. อัครวิชญ์ เอี่ยมสำอางค์ (คุณหมอโค้ก)

จักษุแพทย์ ผู้ชำนาญด้านประสาทจักษุ แพทย์ Lovely Specialist ของ Lovely Eye & Skin Clinic