fbpx ตาเหล่ เป็นอย่างไร แก้ไขด้วยการผ่าตัดเปลือกตาได้ไหม ?

ตาเหล่ เป็นอย่างไร แก้ไขด้วยการผ่าตัดเปลือกตาได้ไหม ?

ตาเข ตาเหล่ (1).jpg

           ตาเหล่ ตาเข เป็นภาวะของดวงตาทั้งสองข้างที่ไม่อยู่ในแนวตรง ทำงานไม่ประสานกัน เหมือนมองไปคนละทิศทาง เช่น ขณะที่ลูกตาข้างหนึ่งมองตรง ลูกตาอีกข้างอาจมุดเข้าหามุมหัวตา หรือหันออกไปทางหางตา หรืออาจลอยขึ้นบน หรือลงล่าง นอกจากจะส่งผลต่อความสวยงามและความมั่นใจ ยังอาจทำให้เกิดอาการตาล้า มองเห็นภาพเบลอ ภาพซ้อน  เกิดภาวะดวงตาไวต่อแสง หรือเกิดภาวะตาขี้เกียจได้ ดังนั้นใครที่คิดว่าตนเองมีภาวะตาเหล่ ตาเข จึงควรปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อทำการตรวจสอบดวงตา และหาแนวทางรักษา เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพดวงตา รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน จนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกันก่อน ว่าภาวะตาเหล่ ตาเข มีอาการอย่างไรบ้าง

อาการตาเหล่ เป็นอย่างไร จะสังเกตได้อย่างไร

           ดูสมมาตรของตาดำ โดยใช้แสงแฟลชถ่ายรูป

           ทำได้โดยใช้วิธีถ่ายรูปหน้าตรง พร้อมกับใช้แสงแฟลช ให้สังเกตแสงที่ตกกระทบดวงตาทั้งสองข้าง ว่าอยู่ตรงกลางตาดำหรือไม่ ถ้าแสงไม่ตกกลางตาดำทั้งสองข้าง แสดงว่ามีความเสี่ยงของภาวะตาเหล่ ตาเข

           ทดสอบการมองเห็นภาพซ้อน

ตาเข ตาเหล่ (4).jpg

           การมองเห็นภาพซ้อน คือ การมองเห็นวัตถุที่มีเพียงชิ้นเดียวเป็นสองชิ้น อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น สายตาเอียง เป็นโรคต้อกระจก มีภาวะกระจกตาโป่ง จากอาการบาดเจ็บที่ดวงตา เป็นต้น ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเห็นภาพซ้อนเพียงตาข้างเดียว แต่คนที่มีภาวะตาเหล่ ตาเขบางชนิด อาจจะมองเห็นภาพซ้อนทั้งสองตา

           มีพฤติกรรมหรี่ตา หรือเอียงคอ

           คนที่มีภาวะตาเหล่ ตาเข อาจพยายามเอียงคอ เพื่อให้ดวงตาดูตรง และยังอาจหรี่ตาหรือเอียงคอ เพื่อให้มองเห็นภาพได้เป็นปกติ ไม่เห็นภาพซ้อน 

ตาเหล่ มีแบบไหนบ้าง

           ตาเหล่แท้ที่เกิดจาก Extraocular Muscle

           Extraocular Muscle คือกล้ามเนื้อนอกลูกตา ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ 6 มัด ทำหน้าที่กลอกลูกตา ให้เคลื่อนไหวไปในทุกทิศทาง ช่วยในการมองเห็น หาก Extraocular Muscle ทำงานไม่ประสานกัน จะทำให้เกิดสมดุลกล้ามเนื้อตาที่ผิดปกติ จนเกิดเป็นภาวะตาเหล่แท้ ซึ่งเกิดได้ 4 รูปแบบ

  • ตาเหล่เข้าใน (Esotropia)

ตาเข ตาเหล่ (8).jpg

          ตาข้างหนึ่งมองตรง ตาอีกข้างจะเขเข้าใน

  • ตาเขออกนอก (Exotropia)

ตาเข ตาเหล่ (7).jpg

           ตาข้างหนึ่งมองตรง ตาอีกข้างจะเขออกนอก

  • ตาเหล่ขึ้นบน (Hypertropia) 

ตาเข ตาเหล่ (6).jpg

          ตาข้างหนึ่งมองตรง ตาอีกข้างจะเขขึ้นบน

  • ตาเหล่ลงล่าง (Hypotropia)

ตาเข ตาเหล่ (5).jpg

 

          ตาข้างหนึ่งมองตรง ตาอีกข้างจะเขลงล่าง

           ตาเหล่เทียมที่มักเกิดจากเนื้อหนังตาปิดช่วงหัวตา 

  • ตาดำดูชิดกับหัวตา จากเนื้อที่คลุมปิดบริเวณหัวตา

          ตาเหล่เทียมจากการที่มีเนื้อรั้งหัวตา หรือมีหนังตาคลุมบริเวณหัวตา ทำให้พื้นที่ด้านหัวตาน้อย ตาดำจึงดูชิดกับหัวตา ทำให้ดวงตาดูเขเข้าใน 

  • ตาทั้งสองข้าง ยังทำงานประสานกันเป็นปกติ

          ถึงแม้ตาดำจะดูเขเข้าด้านใน แต่กล้ามเนื้อกรอกตาทั้งสองข้างยังทำงานประสานกันเป็นปกติ ไม่จัดเป็นภาวะตาเหล่แท้ 

ตาเหล่ เกิดจากอะไร

  • พันธุกรรม

          หากมีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคตาเหล่ ตาเข จะทำให้เกิดความเสี่ยงของการมีภาวะตาเหล่มากขึ้น

  • ความผิดปกติของกล้ามเนื้อตา

          กล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาต เกิดอุบัติเหตุ หรือมีการอักเสบ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อนอกลูกตาทำงานไม่สมดุลกัน ส่งผลให้ลูกตาทั้งสองข้างทำงานไม่ประสานกัน จนเกิดภาวะตาเหล่

  • ระบบประสาทส่วนกลางบกพร่อง 

ระบบประสาทส่วนกลาง เป็นศูนย์กลางควบคุมการทำงานของร่างกาย ประกอบด้วยเส้นประสาทจำนวนมหาศาล ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ และกระดูก หากระบบประสาทส่วนกลางบกพร่อง อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อตาทำงานผิดปกติ จนเกิดภาวะตาเหล่ ตาเขได้

  • ความผิดปกติของการมองเห็น 

           เช่น สายตาผิดปกติ เสียการมองเห็น หรือตาข้างหนึ่งเสียไป

  • โรคไทรอยด์ทำงานผิดปกติ

ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนควบคุมการเผาผลาญในร่างกายให้เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม อาการทางตาที่เกิดจากไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เป็นผลจากการจากที่ไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากผิดปกติ ทำให้เกิดอาการหลายอย่าง เช่น น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย ใจสั่น และยังส่งผลให้กล้ามเนื้อรอบดวงตาเกิดการบวมอักเสบ อาจทำให้มีอาการตาโปน หลับตาไม่สนิท ตาแห้ง ตาแดง ตาเข มองเห็นภาพซ้อนได้

  • มีหนังตาคลุมบริเวณหัวตา

ภาวะตาเหล่ ตาเข นอกจากจะเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของลูกตา หรือกล้ามเนื้อตาแล้ว ยังเกิดจากปัจจัยแวดล้อมที่คนคาดไม่ถึงอย่างหนังตาได้ด้วย เพราะคนที่มีภาวะหนังตาคลุมปิดบริเวณหัวตา จะส่งผลให้พื้นที่ด้านหัวตาน้อย ทำให้ตาดำดูชิดกับมุมหัวตา จึงทำให้ดูเหมือนมีภาวะตาเหล่ ตาเขได้ 

ตาเหล่ อันตรายไหม ต้องได้รับการรักษารึเปล่า ?

           ภาวะตาเหล่ ตาเข ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเรื่องความสวยความงามเท่านั้น แต่สภาวะที่ดวงตาไม่อยู่ในแนวตรง ดวงตาข้างที่ใช้การได้ดีจะมีเพียงข้างเดียว ส่วนดวงตาข้างที่มีอาการเหล่ หรือเข จะไม่ถูกใช้งาน นานไปก็จะเริ่มมัว จนเกิดภาวะตาขี้เกียจ ซึ่งอาการนี้พบในเด็กแรกเกิดถึง 8 ขวบ เกิดจากภาวะตาเหล่ ตาเข และสายตาผิดปกติ หากตาข้างหนึ่งผิดปกติมากกว่าอีกข้าง จะส่งผลให้เด็กใช้ตาเฉพาะข้างที่ปกติ ส่วนข้างที่ไม่ได้ใช้ ก็จะมัวลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายอาจถึงขั้นทำให้ตามัวลงอย่างถาวร

ตาเอก คืออะไร เหมือนกับ ตาเหล่ หรือไม่

           ตาเข ตาเหล่ ตาเอก ตาส่อน สามารถใช้เรียกภาวะที่ตาดำไม่อยู่ตรงกลาง หรืออาการที่ดวงตาทั้งสองข้างเคลื่อนที่ไม่สมดุลกัน ใช้เรียกได้เหมือนกัน เพราะเป็นอาการเดียวกัน

ตาเหล่ รักษาได้ไหม 

การรักษาตาเหล่ โดยไม่ผ่าตัด

  • สวมแว่นสายตา 

คนที่มีสายตาผิดปกติ เช่น กรณีคนไข้ที่สายตายาว อาจมีภาวะตาเขเข้า หรือคนไข้ที่มีสายตาสั้น อาจมีภาวะตาเขออกบางครั้ง สามารถสวมแว่นสายตา เพื่อให้การมองเห็นเป็นปกติ

  • สวมแว่นปริซึม

เลนส์ปริซึม ช่วยในการหักเหแสงที่ตกกระทบวัตถุ สะท้อนเข้าสู่จอตา เพื่อให้ตามองเห็นเป็นภาพเดียวกันทั้งสองข้าง ใช้ได้ดีสำหรับผู้ที่มีอาการตาเหล่ ตาเข มองเห็นภาพซ้อน รู้สึกไม่สบายตาเวลาใช้สายตา

  • ปิดตาเพื่อรักษาอาการตาขี้เกียจ

เป็นการปิดตาข้างที่ใช้การได้ปกติ เพื่อให้ตาข้างที่เป็นตาขี้เกียจได้ใช้งาน ส่งผลให้การมองเห็นของตาข้างที่เขกลับมามองเห็นได้ดีขึ้น

  • โบท็อกซ์กล้ามเนื้อตา

กล้ามเนื้อตาตึงเกินไป เป็นสาเหตุของอาการตาเหล่ ตาเข สามารถฉีดโบท็อกซ์ เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว ลดความตึงของกล้ามเนื้อตา ปรับกล้ามเนื้อกรอกตาให้ทำงานสมดุลกันมากขึ้น ช่วยลดภาวะตาเหล่ ตาเขได้

การรักษาตาเหล่ โดยการผ่าตัด

  • ผ่าตัดกล้ามเนื้อตา Muscle correction 

กรณีตาเหล่ ตาเขที่เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อตา Extraocular Muscle โดยเป็นการผ่าตัดเพื่อตั้งศูนย์กล้ามเนื้อตาใหม่ วิธีนี้จะช่วยปรับความยาวของกล้ามเนื้อตา ช่วยให้การขยับสายตามองขึ้นลง ซ้ายขวา ประสานกันเป็นปกติ ในผู้ใหญ่ใช้เพียงยาชา แต่สำหรับเด็กต้องใช้ยาสลบร่วมด้วย

  • ผ่าตัดเปิดหัวตา Inner corner eye extension

ตาเข ตาเหล่ (2).jpg

กรณีตาเขเข้าจากภาวะหัวตาปิด วิธีนี้จะช่วยเพิ่มพื้นที่ด้านหัวตา ปรับสมดุลของลูกตาดำให้อยู่ตรงกลางมากขึ้น เป็นการผ่าตัดเนื้อที่โค้งปิดหัวตา โดยเปิดแผลเล็กๆ บริเวณหัวตา เป็นการผ่าตัดเล็ก ใช้เพียงยาชา โดยไม่ต้องพักฟื้นหลังทำ สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

การดูแลรักษาตัวเองหลังผ่าตัดรักษาตาเหล่

  • การผ่าตัดกล้ามเนื้อตา Muscle correction หลังผ่าตัดคุณหมอจะปิดตาข้างที่ผ่าไว้นาน 24 ชม. 
  • หลีกเลี่ยงการขยี้ตา และควรระวังไม่ให้น้ำเข้าตา เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ในช่วงสัปดาห์แรก
  • งดแต่งหน้าประมาณ 1 สัปดาห์
  • หยอดตาตามที่คุณหมอจัดให้

           ภาวะตาเหล่ ตาเข อาจทำให้รู้สึกเสียความมั่นใจ ไม่กล้ามองหน้าสบตาผู้คน ไม่กล้าถ่ายรูป จนอาจทำให้พลาดโอกาสหลายอย่างในชีวิต แต่ภาวะตาเหล่ มีวิธีการแก้ไขหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ดังนั้นหากใครรู้สึกว่าตนเองมีภาวะตาเหล่ ตาเข หรือดวงตาที่ดูไม่ปกติ ควรปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อหาวิธีแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ นอกจากจะช่วยรักษาความผิดปกติของดวงตาได้แล้ว ยังช่วยให้กลับมามีความมั่นใจและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข